Lactobacilli และ Bifidobacteria สำหรับป้องกันท้องร่วงในผู้สูงอายุ
The Lancet, Early online Publication, 8 August 2013.
บทความเรื่อง Lactobacilli and Bifidobacteria in the Prevention of Antibiotic-Associated Diarrhoea and Clostridium difficile Diarrhoea in Older Inpatients (PLACIDE): A Randomised, Double-Blind, Placebo-Controlled, Multicentre Trial รายงานว่า ภาวะท้องร่วงจากยาปฏิชีวนะ หรือ antibiotic-associated diarrhoea (AAD) มักพบในผู้ป่วยในซึ่งเป็นผู้สูงอายุ (≥ 65 years) และได้รับยาปฏิชีวนะหลายขนาน และ AAD อาจรุนแรงถึงชีวิตหากเกิดจาก Clostridium difficile และแม้ยังไม่มีขัอมูลชัดเจนเกี่ยวกับกลไกของโรคแต่ก็มีการศึกษาผลของจุลินทรีย์สำหรับป้องกัน AAD อย่างไรก็ดี การศึกษาส่วนใหญ่ยังคงเป็นการศึกษาแบบ single-centre และมีขนาดเล็ก อีกทั้งมีคุณภาพการศึกษาที่แตกต่างกันจึงทำให้ยังไม่มีข้อมูลพียงพอสำหรับประเมินประสิทธิผลได้อย่างน่าเชื่อถือ นักวิจัยจึงศึกษาประสิทธิผลในผู้ป่วยสูงอายุซึ่งใช้เป็นตัวแทนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาลของ National Health Service (NHS) หรือบริการทุติยภูมิลักษณะเดียวกัน และรวบรวมผู้ป่วยให้มากพอเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แน่ชัด
นักวิจัยใช้วิธีศึกษาแบบ multicentre, randomised, double-blind, placebo-controlled, pragmatic, efficacy trial จากผู้ป่วยในอายุ 65 ปีหรือมากกว่า ซึ่งได้รับยาปฏิชีวนะแบบยารับประทานหรือทางหลอดเลือดดำตั้งแต่หนึ่งตัวขึ้นไป นักวิจัยสุ่มผู้ป่วยเป็นกลุ่มที่ได้รับแบคทีเรีย lactobacilli และ bifidobacteria ในปริมาณ 6 x 1,010 ตัว โดยให้วันละครั้งเป็นเวลา 21 วัน หรือได้รับยาหลอก ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ การเกิด AAD ภายใน 8 สัปดาห์ และ C. difficile diarrhoea (CDD) ภายใน 12 สัปดาห์หลังการรวบรวม และวิเคราะห์ตาม modified intention-to-treat
จากผู้ป่วยที่คัดกรอง 17,420 ราย มีผู้ป่วยได้รับจุลินทรีย์ 1,493 ราย และได้รับยาหลอก 1,488 ราย โดยมีผู้ป่วย 1,470 ราย และ 1,471 รายรวมอยู่ในการวิเคราะห์ primary endpoints จากการศึกษาพบว่า AAD (รวมถึง CDD) เกิดขึ้นในผู้ป่วย 159 ราย (10.8%) ในกลุ่มที่ได้รับจุลินทรีย์ และ 153 ราย (10.4%) ในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (relative risk [RR] 1.04; 95% CI 0.84-1.28; p = 0.71) โดย CDD ไม่ใช่สาเหตุหลักของ AAD และพบในผู้ป่วย 12 ราย (0.8%) ในกลุ่มที่ได้รับจุลินทรีย์ และ 17 ราย (1.2%) ในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (RR 0.71; 95% CI 0.34-1.47; p = 0.35) ผู้ป่วย 578 ราย (19.7%) เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงหนึ่งครั้งหรือมากกว่า ซึ่งความถี่ของอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงในทั้งสองกลุ่มค่อนข้างใกล้เคียงกัน และไม่พบว่าเป็นผลจากการเข้าร่วมการศึกษา
นักวิจัยไม่พบหลักฐานว่าการได้รับแบคทีเรีย lactobacilli และ bifidobacteria ให้ผลดีในการป้องกัน AAD หรือ CDD ทั้งนี้จำเป็นที่จะต้องปรับปรุงความเข้าใจเกี่ยวกับพยาธิสรีรวิทยาของ AAD เพื่อกำหนดแนวทางการศึกษาเพิ่มเติมในภายหน้า