การวิจัยและพัฒนาเครื่องช่วยบริหารยาหยอดตาสำหรับประชาชนทั่วไป
เนื่องจากมีโรคตาหรือภาวะผิดปกติทางตาหลายโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยทั่วไปในชุมชน ยกตัวอย่างเช่น ภาวะตาแห้ง ภาวะเยื่อบุตาอักเสบ โรคตากุ้งยิง โรคต้อหิน โรคต้อกระจก เป็นต้น ดังนั้น “การหยอดตา” จึงควรเป็นวิธีบริหารยาพื้นฐานที่ประชาชนโดยทั่วไปสามารถปฏิบัติได้ อย่างไรก็ตาม จากการทบทวนวรรณกรรมพบงานวิจัยหลายฉบับและหลายกรณีศึกษาในการปฏิบัติงานจริงที่แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยไม่สามารถบริหารยาหยอดตาได้อย่างถูกต้องด้วยตนเอง หรืออาจเกิดความผิดพลาดในขั้นตอนการบริหารยาต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขั้นตอนที่จะส่งผลต่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยจากการใช้ยา ดังนั้น Poowaruttanawiwit และคณะ จึงดำเนินงานวิจัยเพื่อวิจัยและพัฒนาเครื่องช่วยบริหารยาหยอดตาสำหรับประชาชนทั่วไปโดยใช้เครื่องมือ eye drops guide (EDG) เป็นต้นแบบวิจัยและพัฒนาโดยแบ่งขั้นตอนการวิจัยออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1. การพัฒนาเครื่องช่วยบริหารยาหยอดตาสำหรับประชาชนทั่วไป โดยใช้เครื่องมือ EDG เป็นต้นแบบ และ 2. การทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการของเครื่องช่วยบริหารยาหยอดตาที่พัฒนาขึ้นในอาสาสมัครสุขภาพดี จำนวน 20 ราย โดยเปรียบเทียบกับคำแนะนำการหยอดตาโดยสภาเภสัชกรรม ผลการวิจัยพบว่า 1. พบประเด็นบางอย่างที่สามารถนำเครื่องมือ EDG ไปพัฒนาต่อยอดได้ ได้แก่ การเพิ่มช่องว่างสำหรับการดึงหนังตาให้เป็นกระพุ้ง และการเพิ่มช่องด้านข้างให้มีขนาดเหมาะสมกับบรรจุภัณฑ์จนนำไปสู่การประดิษฐ์เครื่องมือใหม่คือ NU eye drops guide (NUEDG) 2. อาสาสมัครจำนวน 10 จาก 20 ราย สามารถหยอดตาได้ลง ณ ตำแหน่งกระพุ้งตา และมีระยะห่างระหว่างปลายหลอดหยดกับดวงตาเป็นระยะคงที่คือ 20.97 mm ในขณะที่การหยอดตาโดยใช้วิธีหยอดตาตามคำแนะนำของสภาเภสัชกรรมพบว่ามีอาสาสมัครจำนวน 7 ราย จาก 20 รายที่สามารถหยอดตาได้ลง ณ ตำแหน่งกระพุ้งตา และมีระยะห่างระหว่างปลายหลอดหยดกับดวงตาไม่คงที่ อยู่ในช่วง 14.57-56.12 มม. (มัธยฐาน = 30.21 มม.) และไม่พบการสัมผัสของปลายหลอดหยดกับส่วนใด ๆ ของดวงตาจากการใช้ทั้ง 2 วิธี สำหรับผลความสามารถในการดึงหนังตาเป็นกระพุ้งพบว่าค่าเฉลี่ยพื้นที่กระพุ้งตาจากการดึงหนังตาโดยการใช้ NUEDG และคำแนะนำของสภาเภสัชกรรมคือ 3.14 ± 0.12 cm2 และ 1.41 ± 0.34 cm2 ตามลำดับ ซึ่งแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ งานวิจัยนี้ทำให้ได้ NUEDG เป็นเครื่องช่วยบริหารยาหยอดตาชนิดใหม่ ซึ่งได้รับการวิจัยเบื้องต้นในห้องปฏิบัติการแล้วพบว่ามีประสิทธิภาพระดับปานกลางและมีความปลอดภัยสูง
ที่มา: Poowaruttanawiwit P, Somsai P, Cheepprasob M, Srihirun J, Sawatdiwithayayong J, Luangsawang K, et al. Research and development of eye drop administration aid for the people. TJPP.2021; article in press.