ออกกำลังกายชะลอความเสื่อมด้านหน้าที่ในผู้ป่วยสูงอายุนอนโรงพยาบาล

ออกกำลังกายชะลอความเสื่อมด้านหน้าที่ในผู้ป่วยสูงอายุนอนโรงพยาบาล

JAMA Intern Med. 2019;179(1):28-36.

บทความเรื่อง Effect of exercise intervention on functional decline in very elderly patients during acute hospitalization: a randomized clinical trial รายงานว่า ความเสื่อมด้านหน้าที่พบได้บ่อย การออกกำลังกายและกายภาพบำบัดระหว่างนอนโรงพยาบาลสามารถป้องกันความเสื่อมด้านหน้าที่และการรู้คิดในผู้ป่วยสูงอายุ

คณะผู้ศึกษาวิจัยประเมินผลของการออกกำลัง (innovative multicomponent exercise intervention) ต่อความสามารถด้านหน้าที่ในผู้ป่วยสูงอายุระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2015 ถึงวันที่ 30 สิงหาคม ค.ศ. 2017 โดยสุ่มให้ผู้ป่วยใน 370 รายซึ่งมีอายุมากเป็นกลุ่มออกกำลังกายหรือกลุ่มควบคุม (การรักษามาตรฐาน) และวิเคราะห์ข้อมูลด้วย Intention-to-treat analysis การรักษามาตรฐานครอบคลุมกายภาพบำบัดในกรณีจำเป็น การออกกำลังกายในโรงพยาบาลประกอบด้วย การออกกำลังกายแบบใช้แรงต้าน ฝึกการทรงตัว และฝึกการเดิน (วันละ 2 ครั้ง)

จุดยุติปฐมภูมิ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงด้านหน้าที่จากจุดเริ่มต้นจนถึงออกจากโรงพยาบาลประเมินจากดัชนี Barthel Index of Independence และ Short Physical Performance Battery (SPPB) จุดยุติทุติยภูมิ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงด้านการรู้คิดและอารมณ์ คุณภาพชีวิต แรงบีบมือ อาการเพ้อ ระยะการนอนโรงพยาบาล การหกล้ม  การส่งโรงพยาบาลภายหลังออกจากโรงพยาบาลแล้ว ตลอดจนอัตราการเข้าโรงพยาบาลซ้ำและการเสียชีวิตที่ 3 เดือนหลังออกจากโรงพยาบาล

จากผู้ป่วยในการวิเคราะห์ 370 ราย พบว่า 209 รายเป็นผู้หญิง (ร้อยละ 56.5) ค่าเฉลี่ย (SD) อายุเท่ากับ 87.3 (4.9) ปี มัธยฐานระยะการนอนโรงพยาบาลเท่ากับ 8 วันในทั้งสองกลุ่ม (interquartile range เท่ากับ 4 วัน และ 4 วันตามลำดับ) มัธยฐานระยะการแทรกแซงเท่ากับ 5 วัน (interquartile range เท่ากับ 0) ค่าเฉลี่ย (SD) การเข้าร่วมออกกำลังกายเท่ากับ 5 (1) ครั้งสำหรับการออกกำลังกายในตอนเช้า และ 4 (1) ครั้งสำหรับการออกกำลังกายในช่วงเย็นสำหรับผู้ป่วยแต่ละคน และจากการศึกษาไม่พบการเกิดผลลัพธ์ไม่พึงประสงค์ การออกกำลังกายมีประโยชน์มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับการรักษามาตรฐาน เมื่อออกจากโรงพยาบาลพบว่ากลุ่มออกกำลังกายมีค่าเฉลี่ยคะแนนที่สูงขึ้น 2.2 จุด (95% CI 1.7-2.6 จุด) จาก SPPB scale และ 6.9 จุด (95% CI 4.4-9.5 จุด) จาก Barthel Index เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับการรักษามาตรฐาน การนอนโรงพยาบาลเป็นสาเหตุของความเสื่อมด้านหน้าที่ (ค่าเฉลี่ยการเปลี่ยนแปลงจากจุดเริ่มต้นจนถึงออกจากโรงพยาบาลจาก Barthel Index เท่ากับ -5.0 จุด (95% CI -6.8 ถึง -3.2 จุด) ในกลุ่มที่ได้รับการรักษามาตรฐานขณะที่การออกกำลังกายสามารถพลิกผันแนวโน้มดังกล่าว (1.9 จุด; 95% CI 0.2-3.7 จุด) นอกจากนี้การออกกำลังกายยังเพิ่มคะแนน SPPB score (2.4 จุด; 95% CI 2.1-2.7 จุด) เทียบกับ 0.2 จุด; 95% CI -0.1 ถึง 0.5 จุดในกลุ่มควบคุม) และเพิ่มคะแนนการรู้คิดได้ 1.8 จุด (95% CI 1.3-2.3 จุด) เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับการรักษามาตรฐาน

การออกกำลังมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสำหรับแก้ไขความเสื่อมด้านหน้าที่จากการนอนโรงพยาบาลในผู้ป่วยอายุมาก